Online  ประกาศต่างๆ  :: กฎกระทรวง ว่าด้วยสิทธิในการจัดการศึกษาขั้นพื้นฐาน พ.ศ. ๒๕๒๘
tra_kut.jpg
กฎกระทรวง ว่าด้วยสิทธิในการจัดการศึกษาขั้นพื้นฐาน พ.ศ.๒๕๒๘ :: ย้อนกลับ ::
กฎกระทรวง ว่าด้วยสิทธิในการจัดการศึกษาขั้นพื้นฐาน
พ.ศ.๒๕๒๘

กฎกระทรวง
ว่าด้วยสิทธิในการจัดการศึกษาขั้นพื้นฐาน
โดยสถาบันพระพุทธศาสนา
พ.ศ. ๒๕๔๘

         อาศัยอำนาจตามความในมาตรา ๕ แห่งพระราชบัญญัติการศึกษา แห่งชาติ พ.ศ. ๒๕๔๒ ซึ่งแก้ไขเพิ่มเติมโดยพระราชบัญญัติการศึกษาแห่งชาติ (ฉบับที่ ๒ ) พ.ศ. ๒๕๔๕ และมาตรา ๑๒ แห่งพระราชบัญญัติการศึกษา แห่งชาติ พ.ศ. ๒๕๔๒ อันเป็นพระราชบัญญัติที่มีบทบัญญัติบางประการ เกี่ยวกับการจำกัดสิทธิและเสรีภาพของบุคคล ซึ่งมาตรา ๒๙ ประกอบกับ มาตรา ๕๐ ของรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย บัญญัติให้กระทำได้ โดยอาศัยอำนาจตามบทบัญญัติแห่งกฎหมาย รัฐมนตรีว่าการกระทรวงศึกษาธิการออกกฎกระทรวงไว้ ดังต่อไปนี้
         ข้อ ๑ ในกฎกระทรวงนี้
         “โรงเรียน” หมายความว่า สถานศึกษาที่วัดจัดการศึกษาพระปริยัติธรรม แผนกสามัญศึกษา
         “สำนักศาสนศึกษา” หมายความว่า สถานศึกษาที่วัดจัดการศึกษา พระปริยัติธรรม แผนกธรรม หรือพระปริยัติธรรม แผนกบาลี ตามที่มหาเถรสมาคมประกาศกำหนด
         “สำนักเรียน” หมายความว่า สถานศึกษาที่จัดการศึกษาพระปริยัติธรรม แผนกธรรม หรือพระปริยัติธรรม แผนกบาลี ซึ่งเป็นสำนักเรียนใน เขตกรุงเทพมหานครและสำนักเรียนคณะจังหวัด ตามที่มหาเถรสมาคมประกาศกำหนด
         ข้อ ๒ ให้สถาบันพระพุทธศาสนามีสิทธิจัดการศึกษาขั้นพื้นฐานแก่พระภิกษุและสามเณรในโรงเรียน สำนักศาสนศึกษา และสำนักเรียน
         การจัดตั้ง ยุบ รวม และเลิกการดำเนินการของโรงเรียน สำนักศาสนศึกษา หรือสำนักเรียน ให้เป็นไปตามหลักเกณฑ์และวิธีการที่มหาเถรสมาคมประกาศกำหนด
         ข้อ ๓ การจัดการศึกษาขั้นพื้นฐานโดยสถาบันพระพุทธศาสนา แบ่งเป็นระดับ ดังต่อไปนี้

    (๑) การศึกษาพระปริยัติธรรม แผนกสามัญศึกษา เป็นการศึกษาในระดับมัธยมศึกษาตอนต้น และระดับมัธยมศึกษาตอนปลาย
    (๒) การศึกษาพระปริยัติธรรม แผนกธรรมและการศึกษาพระปริยัติธรรม แผนกบาลี ที่ได้จัดให้แก่พระภิกษุสามเณร ซึ่งมีพื้นความรู้ ไม่ต่ำกว่าระดับประถมศึกษาปีที่หกหรือเทียบเท่า และได้ศึกษาวิชาสามัญเพิ่มเติมตามหลักเกณฑ์ และเงื่อนไขที่คณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐานกำหนด โดยคำแนะนำของมหาเถรสมาคม ซึ่งเป็นการศึกษาขั้นพื้นฐานที่แบ่งเป็นระดับ ดังต่อไปนี้
(ก) การศึกษาพระปริยัติธรรม แผนกธรรม เป็นการศึกษาในระดับมัธยมศึกษาตอนต้น
(ข) การศึกษาพระปริยัติธรรม แผนกบาลี ชั้นเปรียญธรรม ๓ ประโยค เป็นการศึกษาในระดับมัธยมศึกษาตอนปลาย

         ข้อ ๔ ให้โรงเรียน สำนักศาสนศึกษาและสำนักเรียน ได้รับการสนับสนุนในด้านวิชาการและเงินอุดหนุนจากรัฐสำหรับการจัดการศึกษา
         ข้อ ๕ ให้สำนักงานพระพุทธศาสนาแห่งชาติ สำนักงานคณะกรรมการ การศึกษาขั้นพื้นฐาน และสำนักงานเขตพื้นที่การศึกษาที่โรงเรียนสำนักศาสนศึกษา หรือสำนักเรียนตั้งอยู่ในเขตพื้นที่ ส่งเสริม สนับสนุน และให้ข้อเสนอแนะ การจัดการศึกษาพระปริยัติธรรม แผนกสามัญศึกษา พระปริยัติธรรม แผนกธรรม และพระปริยัติธรรม แผนกบาลี
         ข้อ ๖ ให้มีคณะกรรมการโรงเรียน คณะกรรมการสำนักศาสนศึกษา และคณะกรรมการสำนักเรียน ทำหน้าที่กำกับดูแลการจัดการศึกษาของโรงเรียน สำนักศาสนศึกษา และสำนักเรียน แล้วแต่กรณี ให้สอดคล้องกับนโยบายการจัดการศึกษาของสำนักงานคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐานและมหาเถรสมาคม รวมทั้งส่งเสริมและสนับสนุนระบบการประกันคุณภาพภายใน เพื่อพัฒนาคุณภาพและมาตรฐานการศึกษา
         องค์ประกอบ จำนวน คุณสมบัติ หลักเกณฑ์ วิธีการได้มา วาระการดำรงตำแหน่งและการพ้นจากตำแหน่ง ตลอดจนการประชุมและการดำเนินงานของคณะกรรมการโรงเรียน คณะกรรมการสำนักศาสนศึกษา และคณะกรรมการสำนักเรียน ให้เป็นไปตามระเบียบที่มหาเถรสมาคมกำหนด
        

ให้ไว้ ณ วันที่ ๒๐ มิถุนายน พ.ศ.๒๕๔๘
อดิศัย โพธารามิก
(นายอดิศัย โพธารามิก)
รัฐมนตรีว่าการกระทรวงศึกษาธิการ


หมายเหตุ เหตุผลในการประกาศใช้กฎกระทรวงฉบับนี้ คือ โดยที่มาตรา ๑๒ แห่งพระราชบัญญัติการศึกษาแห่งชาติ พ.ศ. ๒๕๔๒ บัญญัติให้สถาบันศาสนามีสิทธิในการจัดการศึกษาขั้นพื้นฐานตามที่กำหนดในกฎกระทรวง ซึ่งสถาบันพระพุทธ-ศาสนาถือเป็นสถาบันศาสนา ดังนั้น เพื่อให้สถาบันพระพุทธศาสนาสามารถจัดการศึกษาขั้นพื้นฐานให้สอดคล้องกับนโยบายการจัดการศึกษาของสำนักงาน คณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐานและมหาเถรสมาคมได้ โดยรัฐจะส่งเสริมและสนับสนุนการจัดการศึกษาของสถาบันพระพุทธศาสนา เพื่อให้ผู้เรียนซึ่งเป็น พระภิกษุสามเณรได้รับการศึกษาที่มีคุณภาพเท่าเทียมกับการศึกษาในรูปแบบอื่น จึงจำเป็นต้องออกกฎกระทรวงนี้   ประกาศในราชกิจจานุเบกษา เล่ม ๑๒๒ ตอนที่ ๕๔ ก หน้า ๑๘ วันที่ ๘ กรกฎาคม ๒๕๔๘

:: Home ::