Online  ระเบียบปฏิบัติต่างๆ  :: การสอบครั้งที่ ๒ สำหรับผู้สอบผ่านแล้ว ๑ วิชา
การสอบครั้งที่ ๒ สำหรับผู้สอบผ่านแล้ว ๑ วิชา :: Back :: :: Next ::
การสอบครั้งที่ ๒
สำหรับผู้สอบผ่านแล้ว
๑ วิชา

         ๒.๑ ประวัติความเป็นมา
         โดยที่สนามหลวงแผนกบาลี ได้ขอยกเลิกการเก็บวิชาที่สอบ ผ่านแล้วเป็นเวลา ๒ ปี ชั้นประโยค ๑ - ๒ ให้มีผลบังคับใช้ในการสอบ ปี พ.ศ. ๒๕๔๘ เป็นต้นไป และได้พิจารณาเห็นถึงความจำเป็นในการสนับสนุนส่งเสริมการศึกษาภายในรูปแบบ และระบบการศึกษาของคณะสงฆ์ที่เน้นคุณภาพ ประสิทธิภาพ และความเข้มข้นในกระบวนการจัดการ
         ดังนั้น จึงได้นำเสนอเรื่องการทดสอบครั้งที่ ๒ สำหรับผู้สอบ ผ่านแล้ว ๑ วิชาในปีนั้น สำหรับชั้นประโยค ๑ - ๒ ถึงประโยค ป.ธ. ๕ เพื่อเป็นการขยายโอกาศการศึกษาให้เพิ่มขึ้นแก่ผู้เข้าสู่ระบบการศึกษาพระปริยัติธรรมแผนกบาลีของคณะสงฆ์ ซึ่งในการดำเนินการทุกประการนั้นต้องคำนึงถึง ความเข้มข้นของรูปแบบ และระบบที่ได้รับการเพาะบ่มสั่งสมมาเป็นลำดับ พระราชศรัทธาที่ทรงถวายโดยพระบรมราชูปถัมภ์ ความเชื่อมั่นของประชาชนที่ให้การยอมรับของคณะสงฆ์ และคุณค่าที่เกิดขึ้นแก่บุคลากรที่ผ่านระบบการศึกษาของคณะสงฆ์ อันเป็นเรื่องที่ต้องใส่ใจเป็นพิเศษทีเดียว


         ๒.๒ หลักการและเหตุผล
         โดยที่การศึกษาของคณะสงฆ์มุ่งเน้นให้ผู้ผ่านระบบการศึกษา มีความรู้และความสามารถในการที่จะคุ้มครองตนเองได้ตามพระธรรมวินัย และสามารถจะสืบค้นต่อยอดได้จากการศึกษาค้นคว้าได้ตนเองหรือจากสถาบันการศึกษาเพื่อนำความรู้ไปใช้ให้เกิดประโยชน์ในการเผยแผ่หลักธรรมคำสอน แก่ประชาชนโดยทั่วไป
         ดังนั้น ในระบบการศึกษาจึงเน้นทั้งในเรื่องของวิชาการและ จริยสมบัติโดยอาศัยการถ่ายทอดจากระบบสู่ระบบ จากบุคคลสู่บุคคล เพื่อสร้างความมั่นคงและความเจริญให้เกิดขึ้นแก่พระศาสนาตลอดไป
         ด้วยเหตุดังนี้ จึงเป็นความจำเป็นที่ต้องเปิดกว้างในระบบการศึกษา แต่มีความรัดกุมและเข้มแข็งพอในกระบวนกรจัดการ มีความยืดหยุ่นในวิธีการ นำเสนอ แต่ไม่กระทบกระเทือนถึงระบบและรูปแบบที่วางไว้เป็นกฎเกณฑ์ที่เป็นที่เชื่อถือและยอมรับกันโดยทั่วไป


         ๒.๓ วัตถุประสงค์
                 ๒.๓.๑ เพื่อขยายโอกาสทางการศึกษาต่อผู้ใคร่ศึกษาพระปริยัติธรรม แผนกบาลี
                 ๒.๓.๒ เพื่อเป็นปัจจัยต่อผลสัมฤทธิ์ทางการศึกษาในทางด้านสถิติข้อมูลที่เพิ่มขึ้น
                 ๒.๓.๓ เพื่อเป็นแรงจูงใจให้ผู้ศึกษามีฉันทะในการศึกษามากขึ้น
                 ๒.๓.๔ เพื่อเสริมสร้างบุคลากรทางศาสนาที่มีคุณภาพเพิ่มขึ้น


         ๒.๔ เป้าหมาย
         พระภิกษุ-สามเณรผู้สอบบาลีสนามหลวงชั้นประโยค ๑-๒ ถึงประโยค ป.ธ. ๕ ตั้งแต่การสอบในปี พ.ศ. ๒๕๔๘ เป็นต้นไป

         ๒.๕ โครงสร้างการสอบครั้งที่ ๒ สำหรับผู้สอบผ่านแล้ว ๑ วิชา ในปีนั้น ชั้นประโยค ๑-๒ ถึงประโยค ป.ธ. ๕
         โดยที่การวัดผลการศึกษาพระปริยัติธรรมแผนกบาลี เป็นที่ยอมรับกันโดยทั่วไปว่ามีความเข้มข้นในทั้งเนื้อหาของข้อสอบและกระบวนการวัดผล ทั้งนี้ เพื่อคัดเลือกให้ได้บุคลากรที่มีคุณภาพจริง ๆ ไว้รับใช้พระศาสนา
         ดังนั้น ในการประกาศผลสอบในแต่ละปี จึงมีผู้สอบผ่าน ตามเกณฑ์ที่กำหนดในแต่ละชั้นประโยคไม่มากนัก ถึงกระนั้น ผู้ที่สอบผ่านได้ในแต่ละชั้นประโยค จึงเป็นที่ยอมรับของสังคมโดยทั่วไป ทั้งผู้สอบเองก็เกิดความภาคภูมิใจในผลการศึกษาที่เกิดขึ้น ค่านิยมส่วนนี้ เป็นสิ่งที่พึงรักษาไว้สำหรับการศึกษาของบุคลากรในทางพระพุทธศาสนา ในหลักการแห่งการนำเสนอนั้น ได้อาศัยเค้าโครง รูปแบบ หลักสูตรและวิธีการเช่นเดิม เพียงแต่ขยายโอกาส ในการวัดผลการศึกษาเพิ่มขึ้น ภายใต้เงื่อนไขและข้อจำกัดที่กำหนดไว้บางประการ
         ด้วยวิธีการเช่นนี้ จะทำให้สถิติผลการทดสอบได้ของนักเรียน เพิ่มขึ้นทุกชั้นประโยค โดยมิได้ตัดทอนหลักสูตร หรือลดความเข้มข้นของกระบวนการวัดผลลงแต่ประการใด ทั้งจะเป็นผลให้ลดจำนวนของผู้ขาดสอบ ให้น้อยลงด้วย ทั้งนี้ เพราะผู้สอบมีความหวังว่าจะพึงมีสิทธิ์สอบผ่านในปีที่สอบนั้น


         ๒.๖ หลักการ
         เปิดโอกาสให้นักเรียนได้สอบ ๒ ครั้ง ใน ๑ ปี
                 ๒.๖.๑ ครั้งแรก สอบตามปกติ ตามวัน เวลาที่ใช้สอบในปัจจุบัน
                 ๒.๖.๒ ครั้งที่ ๒ สอบซ่อมสำหรับนักเรียนที่ผ่านแล้ว ๑ วิชา (ยกเว้นวิชาบุรพภาค ป.ธ. ๓) ในชั้นประโยคนั้น ในปีนั้นเมื่อสอบครั้งที่ ๒ แล้ว ผลปรากฎว่าสอบไม่ผ่านในวิชาที่เหลือให้ถือว่าสอบไม่ผ่านทั้งหมดในปีนั้น ในปีต่อไป ต้องสอบใหม่ครบทุกวิชา หรือนักเรียนที่สอบครั้งที่ ๑ ผ่านมาแล้ว ๑ วิชา ไม่เข้าสอบในการสอบครั้งที่ ๒ ในปีนั้น ก็ให้ถือว่าสอบไม่ผ่านทั้งหมดไม่อาจจะเรียกร้องสิทธิ์ใด ๆ ได้


         ๒.๗ ข้อกำหนดสำหรับผู้ได้รับสิทธิ์ในการสอบครั้งที่ ๒
                 ๒.๗.๑ ต้องสอบให้ครบทุกวิชาในชั้นประโยคนั้น ๆ
                 ๒.๗.๒ ต้องสอบได้ผ่านเกณฑ์ที่กองบาลีสนามหลวงกำหนดไว้ จึงจะถือว่าสอบผ่านวิชานั้น
                 ๒.๗.๓ ผู้ที่สอบผ่าน ๑ วิชาในชั้นประโยค จึงจะได้รับสิทธิ์ในการสอบครั้งที่ ๒ ในวิชาที่เหลือ ในปีนั้น (ยกเว้นวิชาบุรพภาค ป.ธ. ๓)
                 ๒.๗.๔ เมื่อสอบผ่านในวิชาที่เหลือครบตามจำนวนตามเกณฑ์ที่กองบาลีสนามหลวงกำหนดในการสอบครั้งที่ ๒ นี้ จึงจะถือว่าสอบได้ในชั้นประโยคนั้น
                 ๒.๗.๕ ผู้ที่สอบไม่ผ่านครบตามจำนวนที่กำหนดไว้ในชั้นประโยคในการสอบครั้งที่ ๒ นี้ก็ดี หรือผู้ที่มีสิทธิแต่ไม่สอบในการสอบครั้งที่ ๒ นี้ก็ดีในปีนั้น ถือว่าสอบไม่ได้ในชั้นประโยคนั้น ในปีต่อไป ต้องสมัครและสอบใหม่ครบทุกวิชา


         ๒.๘ การสมัครสอบ          การทำบัญชี ศ. ๒ (บัญชีสมัครสอบ) ทุกชั้นประโยค คงสมัครสอบไปตามปกติส่วนในการสอบครั้งที่ ๒ สำนักเรียนในส่วนกลางและสำนักเรียนคณะจังหวัดในส่วนภูมิภาคไม่ต้องจัดทำบัญชี ศ. ๒ เพื่อสมัครสอบอีกครั้งหนึ่ง ทั้งนี้ เพราะถือว่าได้สมัครแล้วและพร้อมที่จะสอบ สนามหลวงแผนกบาลีโดยฝ่ายเลขานุการ จะจัดทำบัญชี ศ. ๓ มอบให้ในการสอบครั้งที่ ๒ (สอบซ่อม) นี้ และเมื่อสอบครั้งที่ ๒ (สอบซ่อม) ผ่านไปแล้ว ปรากฏว่าสอบไม่ผ่านในวิชาที่เหลือนั้น ถือว่าเป็นการสอบไม่ผ่านทั้งหมดวิชาที่สอบผ่านมาแล้ว ก็เป็นอันยกเลิกทั้งหมด ในปี พ.ศ. ถัดไป ต้องสอบใหม่ทั้งหมดครบทุกวิชา


         ๒.๙ สถานที่สอบ          สถานที่สอบในส่วนกลาง สนามหลวงแผนกบาลี จะได้กำหนดสถานที่สอบเป็นส่วนเฉพาะ อาจจะไม่ครอบคลุมถึงสนามสอบทุกแห่ง ในการสอบครั้งที่ ๑ แล้วมอบให้เจ้าสำนักสถานที่สอบส่งผู้แทนมารับข้อสอบ เช่นดังที่เคยปฎิบัติมา
         ส่วนสถานที่สอบในส่วนภูมิภาค สนามหลวงแผนกบาลีจะมอบหมายให้เจ้าคณะภาคทุกภาค เป็นผู้รับผิดชอบดำเนินการในการกำหนด สถานที่สอบ ในการจัดสถานที่สอบในการแต่งตั้งกรรมการกำกับห้องสอบและกรรมการฝ่ายต่างๆ อันเนื่องด้วยการสอบ ในการแต่งตั้งผู้นำประโยค ไปเปิดสอบในสนามสอบที่ภาคกำหนด
         สำหรับสถานที่สอบนั้นให้มีภาคละ ๑ แห่ง ถ้าจะขอกำหนดสถานที่สอบมากกว่า ๑ แห่ง ต้องได้รับความเห็นชอบจากแม่กองบาลีสนามหลวงเป็นครั้งคราว ในแต่ละปีให้เจ้าคณะภาคกำหนดสถานที่สอบครั้งที่ ๒ (สอบซ่อม) ส่งมาพร้อมกับบัญชี ศ. ๒ ซึ่งภาครวบรวมจากจังหวัดในเขตปกครองแล้วนำส่งกองบาลีสนามหลวง


         ๒.๑๐ ปฎิทินการศึกษา (การสอบและการตรวจข้อสอบ)
         - สอบประโยค ป.ธ. ๖, ๗ (ขึ้น ๒, ๓ ค่ำ เดือน ๓)
         - สอบประโยค ป.ธ. ๘, ๙ (ขึ้น ๔, ๕, ๖ ค่ำ เดือน ๓)
         - สอบครั้งหลัง ประโยค ๑ - ๒ และ ป.ธ. ๓ ,๔ ,๕ (แรม ๑๐, ๑๑, ๑๒ ค่ำ เดือน ๓)
         - รวมตรวจพร้อมกันทุกประโยคในการสอบครั้งที่ ๑ (แรม ๒ - ๖ ค่ำ เดือน ๔)
         - ประกาศผลสอบครั้งที่ ๑ (แรม ๖ ค่ำ เดือน ๔)
         - สอบครั้งที่ ๒ ประโยค ๑ - ๒ และ ป.ธ. ๓, ๔, ๕ (แรม ๑๐, ๑๑, ๑๒ ค่ำ เดือน ๕)
         - เฉลยข้อสอบ (ขึ้น ๑ ค่ำ เดือน ๖)
         - ตรวจข้อสอบ ในการสอบครั้งที่ ๒ (ขึ้น ๑๐ ค่ำ เดือน ๖)
         - ประกาศผลสอบ (ขึ้น ๑๓ ค่ำ เดือน ๖)


         ๒.๑๑ งบประมาณ
         เนื่องจากโครงการนี้ เป็นการเพิ่มปริมาณงาน เพิ่มภาระแก่ผู้ปฏิบัติอีกเท่าตัว ทั้งเป็นภารกิจที่กว้างขวาง มีขอบข่ายเกี่ยวข้องกับสำนักทั่วไป ดังนั้น จึงต้องใช้งบประมาณเพื่อการนี้เพิ่มขึ้นจากงบประมาณค่าใช้จ่ายที่ได้ จัดถวายตามปกติ โดยขอเพิ่มขึ้นจากเดิมอีกประมาณ ๒,๐๐๐,๐๐๐ บาท (สองล้านบาทถ้วน)


         ๒.๑๒ แหล่งที่มาของงบประมาณ
                 ๒.๑๒.๑ งบประมาณค่าใช้จ่ายจากงบประมาณแผ่นดินประจำปี
                 ๒.๑๒.๒ งบศาสนสมบัติกลาง


         ๒.๑๓ ผลที่คาดว่าจะได้รับ
                 ๒.๑๓.๑ ได้ขยายโอกาสทางการศึกษากว้างขึ้น
                 ๒.๑๓.๒ สถิติของผู้สอบได้ในชั้นประโยคเพิ่มขึ้น
                 ๒.๑๓.๓ ผู้ศึกษามีกำลังใจในการศึกษาเล่าเรียนเพิ่มขึ้น มีเจตคติที่ดีในการศึกษาและมีกำลังใจที่จะนำความรู้ไปถ่ายทอดแก่พระภิกษุสามเณร และประชาชนโดยทั่วไป
         ด้วยวิธีการเช่นนี้ น่าจะเป็นผลดีต่อระบบการศึกษาโดยรวม เพราะผู้สอบได้รับการขยายโอกาสเพิ่มขึ้น ทั้งจะเป็นเหตุชักนำให้บุคคลเข้าสู่ระบบการศึกษาเพิ่มขึ้นหรือผู้ที่เหิ่นห่างจากการศึกษาในระบบของคณะสงฆ์มานานแล้ว เมื่อโอกาสเช่นนี้เปิดกว้างขึ้นก็จะเป็นเหตุให้มีกำลังใจหันกลับมาสู่ระบบการศึกษาเช่นเดิม อีกทั้งเป็นการกระตุ้นเตือนพัฒนาบุคลากรของศาสนาให้มีความกระตือรือร้นในการแสวงหาวิชาการ แสวงหาภูมิรู้ภูมิธรรมให้สูงโดยยิ่งขึ้นไป

สนามหลวงแผนกบาลี
๒๕ ตุลาคม ๒๕๔๗

        
:: Home ::